โครงการอบรมให้ความรู้และรณรงค์การคัดแยกขยะมูลฝอยในชุมชน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยปูลิง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
๑. หลักการและเหตุผล
ปัญหาจากขยะมูลฝอยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เนื่องจากขยะมูลฝอยส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด เพื่อลดปัญหาการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะและขยะตกค้างจึงต้องมีการคัดแยกขยะให้ถูกประเภทเพื่อสะดวกในการจัดการ เช่น ขยะย่อยสลายได้ก็นำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก ขยะอันตรายก็นำเข้าสู่ระบบการทำลายที่ปลอดภัย ส่วนขยะรีไซเคิลก็นำมารวบรวมสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ ส่วนขยะทั่วไปก็นำไปทิ้งหรือนำไปจัดการอย่างถูกวิธีและตามหลักสุขาภิบาลต่อไป และเมื่อเราทราบว่าขยะรีไซเคิลมีชนิดใดบ้างก็สามารถแยกชนิดได้อย่างละเอียดตั้งแต่ในครัวเรือน เมื่อนำไปขายก็จะเพิ่มมูลค่าของขยะรีไซเคิลให้มากขึ้นและง่ายต่อการนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลประเภทนั้น ขยะมูลฝอยในครัวเรือนโดยทั่วไปสามารถแยกออกเป็นวัสดุรีไซเคิลได้เป็น ๔ ประเภท คือ แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ/อโลหะ ซึ่งเมื่อแยกออกเป็นประเภทต่างๆแล้วมักจะเรียกว่าวัสดุรีไซเคิล
การคัดแยกขยะก่อนทิ้งในครัวเรือน จะช่วยลดปริมาณขยะในครัวเรือนและลดปัญหาขยะที่ตกค้างตามชุมชน/โรงเรียนทำให้สิ่งแวดล้อมสะอาดได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลดการใช้พลังงาน และลดมลพิษที่จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะร่วมมือกันลดและแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นด้วยการคัดแยกขยะให้ถูกประเภทและนำวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เข้ากระบวนการรีไซเคิล เพื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืนต่อไป
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยปูลิง จึงได้จัดทำโครงการรณรงค์การคัดแยกขยะมูลฝอยในชุมชนขึ้น เพื่อนำร่องในการบริหารจัดการขยะสร้างมูลค่าขยะให้เป็นรายได้เสริมแก่ประชาชน ให้ประชาชนรู้จักการคัดแยกขยะมูลฝอยในครัวเรือน และป้องกันแหล่งโรคติดต่อที่เกิดจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะมูลฝอยในอนาคตต่อไป
๒. วัตถุประสงค์โครงการ
๑. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน/นักเรียนรู้จักและเข้าใจการคัดแยกขยะมูลฝอยในครัวเรือน/ สถานศึกษา และสร้างรายได้จากการจำหน่ายวัสดุรีไซเคิลที่คัดแยกด้วยตนเอง
๒. เพื่อร่วมสนับสนุนการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน/นักเรียน
๓. เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธ์พาหะนำโรคติดต่อมาสู่ชุมชน/สถานศึกษาที่เกิดจากปัญหาขยะมูลฝอยตกค้าง
๔. เพื่อให้เกิดธนาคารขยะในโรงเรียน
๓. เป้าหมาย
๑. เป้าหมายเชิงปริมาณ-
- ประชาชน/อสม./นักเรียนในในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยปูลิง จำนวน ๕๐ คน
๒. เป้าหมายเชิงคุณภาพ-
- ประชาชน/อสม.นักเรียนในเขตตำบลห้วยปูลิงมีจิตสำนึก มีความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะมูลฝอย สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการคัดแยกขยะมูลฝอยและทิ้งขยะมูลฝอยอย่างถูกต้อง
๔. วิธีดำเนินการ
๑. ประชุมข้าราชการ ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบแนวทางการดำเนินงาน
๒. จัดทำโครงการ/แผนการดำเนินงาน/แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน
๓. ดำเนินการตามแผนงาน/โครงการอบรมให้ความรู้และรณรงค์การคัดแยกขยะมูลฝอยในชุมชน
- การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ
- การทำน้ำหมักชีวภาพ
- การใช้วัสดุธรรมชาติแทนกล่องโฟมหรือพลาสติก
- นำขยะมาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์
๔. ประเมินผลและสรุปผลการดำเนินงาน
๕. ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
- วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕
๖. สถานที่ดำเนินการ
- ณ. ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยปูลิง